สัมมนา “ทางรอด ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ในยุคอุตสาหกรรม 4.0

04 กรกฎาคม 2560 | 11:05 น.

เมื่อวันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560 เวลา 12.30-16.40 น. นาย นันทภพ ศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ มจธ. ประธานโครงการ พร้อมเพื่อนนักศึกษาร่วมชั้นเดียวกัน จัดงานสัมมนาหัวข้อ “ทางรอดธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ในยุคอุตสาหกรรม 4.0” เพื่อเป็นการให้ความรู้และแนวทางการปรับตัวของโรงพิมพ์ในปัจจุบัน ณ หอเกียรติยศ อาคารเรียนรวม 3 ชั้น 8 คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มจธ. โดยมี ผศ.ดร.นุชจรินทร์ เหลืองสะอาด ผู้ดูแลและกำกับงานบริหารทั่วไป งานวิชาการภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ท่ามกลางผู้ประกอบการธุรกิจการพิมพ์ ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการพิมพ์ นักศึกษาและผู้ที่สนใจ เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาอย่างคับคั่ง โดยมีหัวข้อการสัมมนาทั้งหมด 3 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

หัวข้อที่ 1 ภาพรวมของสิ่งพิมพ์และหนังสือในปัจจุบัน ผู้ให้เกียรติบรรยายคือคุณเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่อุตสาหกรรมทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่มาพร้อมกับระบบดิจิตอล ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะสังคมการพิมพ์แบบเดิมๆที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันยุคทันสมัยได้ ประกอบกับการที่ประเทศไทยติดกับดักการเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องทำการปฎิรูปประเทศให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยการนำเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานเพื่อให้ได้งาน ได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น สอดคล้องกับคำที่คุณเกรียงไกรชอบพูดถึง คือ ทำน้อยแต่ได้มาก โดยในตอนสุดท้าย คุณเกรียงไกรยังให้แนวคิดอีกว่า “เราควรเปลี่ยนจาก Printing 4.0 เป็น Printer 4.0 ซึ่งคุณสมบัติสำคัญของ Printer 4.0 คือ “สนุกกับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ปิดกั้นตัวเอง มีความคิดสร้างสรรค์ ติดตามเทรนด์โลกให้ทัน และใส่ใจการทำงานต่างวัฒนธรรม” เพื่อให้เราอยู่รอดได้ในยุคของการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน



หัวข้อที่ 2 วิธีการปรับตัวและการรับมือสำหรับโรงพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ โดยคุณธาวินี สามัตถิยดีกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ระดับแนวหน้าของไทยที่มีการพัฒนาปรับตัว ปรับการทำงานให้ทันยุคทันการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เช่น การทำ Digital magazine การทำ Packaging เพราะคิดว่าจะเป็นทางรอดได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ได้เปลี่ยนแค่การเป็น Digital magazine เท่านั้น แต่รูปแบบการทำการตลาดก็จะเปลี่ยนแปลงไปเป็น Marketing Cloud ซึ่งสินค้า ทุกอย่างจะซื้อขายทางออนไลน์ กันหมด

ทาง ศิริวัฒนา จึงได้พยายามคิดหาทางรอดใหม่ โดยการนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ซึ่งเป็นระบบการบริหารจัดการทรัพยากรภายในบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณธาวินีได้กล่าวว่า “ระบบ ERP ที่ทางศิริวัฒนาเขียนขึ้นเองนี้ ถือเป็นตัวอย่างการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุค 4.0 โดยใช้ระบบ IT และซอร์ฟแวร์ เข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการภายใน เพื่อให้รู้ต้นทุนที่แท้จริง และสามารถวางแผนการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ของบริษัทได้มากกว่า 20-30 % เช่นลดค่าไฟ จากที่เคยจ่ายเดือนละ 7 ล้าน เหลือเพียง 4.3 ล้าน เป็นต้น”



ผู้บรรยายท่านสุดท้าย หัวข้อ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยในการปรับตัวของโรงพิมพ์สื่อสิ่งพิมพ์ คือคุณศุภรัฐ โชติกุลธนชัย ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ เอช พี อินดิโก และ อิงค์เจ็ตเว็บเพรส โซลูขั่น กลุ่มธุรกิจการพิมพ์และคอมพิวเตอร์ บริษัท เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการปรับตัวของโรงพิมพ์ คือ การติดตามศึกษาแนวโน้มของตลาด โรงพิมพ์ต้องสามารถเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับจ้างพิมพ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา เพื่อเข้าถึงความต้องการของลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าขายของได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้แนวคิดที่สร้างสรรค์ ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้ศักยภาพของระบบการพิมพ์ดิจิตอล ซึ่งคุณศุภรัฐกล่าวว่า เป็นระบบที่สามารถจะช่วยให้โรงพิมพ์ “ทำน้อย ได้มาก” ตามแนวคิดของคุณเกรียงไกรเลยละครับ

 


น่าดีใจ ที่นักศึกษายุคเมืองไทย 4.0 มีจิตใจห่วงใยผู้ประกอบการ สู้อุตส่าห์จัดทำโครงการเพิ่มพูนความรู้ดีๆ ให้ฟรีๆ อย่างนี้ ต้องขอชื่นชมนะคะ

back