Narongsakdi: The Man Behind the Scene

23 พฤศจิกายน 2560 | 15:28 น.

ใครที่ได้รู้จักคุ้นเคยกับ คุณณรงค์ศักดิ์ มีวาสนาสุข ผู้บริหารบริษัท สุนทรฟิล์ม จำกัด แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คุณณรงค์ศักดิ์เป็นบุคคลหนึ่งที่ใจดี ใจกว้าง เสียสละ ทำงานเพื่อความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการพิมพ์ของชาติ มาโดยตลอดเป็นระยะเวลายาวนานเกือบ 30 ปีและคงจะทำเช่นนี้ตลอดไปนะคะ

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นของคุณณรงค์ศักดิ์ที่คนในวงการพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่เคยได้รู้มาก่อน ก็คือ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานทางด้านการพิมพ์แบบครบวงจร โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรในวงการพิมพ์ทั่วไปได้ฝึกทักษะการทำงานและเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริงภายในบริษัท สุนทรฟิล์ม ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเครื่องไม้เครื่องมือในกระบวนการพิมพ์ที่ทันสมัย ครบทุกขั้นตอน

ที่สำคัญ คือ คุณณรงค์ศักดิ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากความทันสมัยของเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานด้านการพิมพ์เฉพาะกับบุคลากรภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการพิมพ์ในประเทศเพื่อนบ้านของเราได้เข้ามารับการฝึกอบรมด้วย โดยเฉพาะประเทศภูฏาน ที่ได้ส่งบุคลากรทาง การพิมพ์ทั้งระดับผู้บริหารและระดับผู้ปฏิบัติการ เข้ามาฝึกอบรมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนานนับ 10 ปีทีเดียว

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2560 ได้ทราบข่าวว่าคุณณรงค์ศักดิ์กำลังพาคณะช่างพิมพ์จากภูฏาน 7 คน มาดูงานแสดงการบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ PPI 2017 ที่ไบเทค ทีมงานข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” จึงไม่รอช้า รีบไปดักหน้าขอคุยกับ คุณณรงค์ศักดิ์ เพื่อจะ “หาเรื่อง” มารายงานให้คุณผู้อ่านได้ทราบตามหน้าที่นักข่าวที่ดีนะคะ

“เรื่องที่เรามีโอกาสได้ฝึกอบรมการพิมพ์ให้คนภูฏานเนี่ยะ ต้องบอกว่า เริ่มมาจากการประสานงานของคนสำคัญ 2 คน คนแรกคือ คุณ Benny Thomson ซึ่งเป็นฝรั่งชาวเดนมาร์คที่มาบุกเบิกการพิมพ์บัตรพลาสติก ในไทย เขาได้รับทุนจากองค์กรในยุโรปให้ไปช่วยดูแลการจัดตั้งโรงพิมพ์ควนเซล (KUENSEL Corporation Ltd.) ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ของรัฐบาลและเป็นโรงพิมพ์เพียงแห่งเดียวของภูฏาน โดยคุณเบนนี่ยังได้รับเป็นที่ปรึกษาให้โรงพิมพ์แห่งนี้ด้วย

คนสำคัญคนที่ 2 คือ ดร.บุญชัย วลีธรชีพสวัสดิ์ อาจารย์ด้านการพิมพ์จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับทุนจาก ไจก้า ประเทศญี่ปุ่น ให้ไปทำการฝึกอบรมระดับผู้บริหารโรงพิมพ์ที่ภูฏาน หลังจากนั้น ก็ได้มีการส่งบุคลากรของภูฏานมาฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมการพิมพ์แห่งชาติที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชติดต่อกันมาเกือบ 10 ปีแล้วนะครับ บางครั้งทางศูนย์ฝึกฯ ก็พามาดูงานที่สุนทรฟิล์มด้วย ส่วนคุณเบนนี่ ซึ่งรู้จักกันมาก่อน ก็แนะนำให้โรงพิมพ์ภูฏานส่งบุคลากรระดับปฏิบัติการมาฝึกงานที่สุนทรฟิล์ม ซึ่งรุ่นที่พามาดูงานครั้งนี้ เป็นรุ่นที่ 3 แล้วครับ” คุณณรงค์ศักดิ์บอกเล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้อย่างกับจะรู้ใจว่าเราจะถามเรื่องอะไร แถมยังเล่าต่อไปอีกว่า  “ปัจจุบันทางภูฏาน จะส่งช่างทางการพิมพ์มาเรียนรู้เกี่ยวกับ การทำงานจริงในขั้นตอนต่างๆ ที่สุนทรฟิล์ม เพราะเรามีเครื่องมือเครื่องไม้ที่จะเอื้ออำนวยให้พวกเขาเรียนรู้ได้ค่อนข้างครบวงจร เริ่ม จากการออกแบบงานพิมพ์ทุกประเภท ทั้งแผ่นพับ ใบปลิว โบรชัวร์ บรรจุภัณฑ์ ฉลาก ครบเลย ต่อด้วยเรื่องการจัดการสี การถ่ายภาพ การทำไฟล์ผ่านโปรแกรม Adobe ที่ใช้ในการพิมพ์ เรียนเรื่องการทำดิจิตอลแมกกาซีนขึ้น Tablet ด้วย เนื่องจากคนรุ่นใหม่นิยมอ่านหนังสือ อ่านแมกกาซีนผ่านสมาร์ทโฟน ในขณะเดียวกันก็จะสอนเรื่องวิธีการทำดิจิตอลปรู๊ฟให้เข้ากับการพิมพ์ออฟเซต ทำอย่างให้ได้สีใกล้เคียงมากที่สุด ก็สอนค่อนข้างจะครบวงจรด้านพรีเพรส

ทางด้านการพิมพ์ เราก็สอนด้วย เพราะเรามีเครื่องพิมพ์ออฟเซตของไฮเดลเบิร์กรุ่น Ani Color ซึ่ง ในประเทศไทยมีไม่กี่ตัวเอง เราก็เอามาใช้ในการเทรนนิ่ง เริ่มตั้งแต่การเซตเครื่อง ตั้งเครื่อง ขึ้นเพลท ฯลฯ การพิมพ์ระบบดิจิตอล เราก็สอน เพราะเรามีเครื่องพิมพ์ดิจิตอลของ HP Indigo ใช้อยู่หลายตัว เรียกว่าทางทีมงานของภูฏานได้เรียนรู้เรื่องการพิมพ์ที่ค่อนข้างครบวงจร

ส่วนเรื่องงานหลังพิมพ์ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก เราก็สอนด้วย มีทั้งเรื่องขั้นตอน การตัด การพับ ซึ่งเป็นงานพื้นฐาน แต่จะมีเรื่องการทำ Spot UV การปั๊มทอง ปั๊มนูน ทำปกแข็ง ทำปก Photo book ปกแบบผีเสื้อ เป็นเทคนิคเฉพาะ ซึ่งเขาก็ไม่รู้มาก่อน เราก็สอนให้เขารู้แล้วนำไปปรับใช้ในประเทศเขาได้ เปิดโอกาสให้เขาบันทึกภาพด้วย เราเปิดกว้าง ไม่สนใจเลยว่าเขาจะมาเป็นคู่แข่งเราไหม งานหลังพิมพ์นี้ เขาได้ความรู้เยอะมาก ประทับใจมาก  สำหรับกลุ่มที่มาใหม่ครั้งนี้มี 7 คน ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องเทคนิคการเคลือบผิวกระดาษสำหรับงานพิมพ์ระบบดิจิทัลอีกด้วย เพราะกระดาษบางชนิดเวลาพิมพ์แล้วหมึกไม่ติด ต้องใช้ไพรเมอร์เคลือบผิวกระดาษก่อน ส่วนวัสดุที่ใช้พิมพ์อื่นๆ เช่นพลาสติก ก่อนจะพิมพ์ต้องระเบิดผิวก่อน จะได้พิมพ์ติด เราก็จะสอนเรื่องการระเบิดผิวให้ด้วย ซึ่งเรื่องพวกนี้ทางเขาจะไม่ค่อยรู้ ก็รู้สึกเลยว่าทางเขาค่อนข้างพอใจมาก

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่จะสอน คือ การพิมพ์อิงค์เจ็ทหน้ากว้าง แบบลาร์จฟอร์แมท เราพาไปดูเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ Epson, Roland, HP Latex และเครื่อง Fuji UV Flatbed พาไปดูการทำสติ๊กเกอร์ ทำฟิวเจอร์บอร์ด ทำ  full frame ทำ X-Stand รวมถึงการแร็ปรถ (car wrap) ด้วย ในครึ่งวันสุดท้ายของการฝึกอบรม เราได้มีโอกาสพาคณะฯเข้าเยี่ยมชม โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก ดร.อรัญ หาญสืบสาย และคณะอย่างอบอุ่น

ระยะเวลาการเรียนการสอนทั้งหมดประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นการเรียนการสอนระยะสั้น ส่วนใหญ่ทางเขาก็มีความรู้ มีประสบการณ์อยู่บ้างแล้ว เลยเรียนรู้ได้เร็ว ในเดือนพฤศจิกายนนี้ก็จะมีมาอีกกลุ่ม มาเรียนรู้งานแผนกบัญชี การเงิน สินเชื่อด้วย ในฐานะที่ผมเคยบริหารงานด้านบัญชีและการเงินมาก่อน จึงพอจะให้คำแนะนำเรื่องที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารเงินสด การจัดซื้อ และการปล่อยสินเชื่อ”

สุดท้าย คุณณรงค์ศักดิ์ยังได้เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้มุ่งมั่นทำโครงงานนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ว่า “เรารู้สึกประทับใจ ในประเทศและชาวภูฏานมาก คนภูฏานน่ารักและเขาก็รักประเทศไทยมากด้วย ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ ลงมาจนถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะพระราชวงศ์กษัตริย์จิกมี ทรงให้ ความเคารพและนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ของเราเป็นที่สุด ทรงเข้ามาเรียนรู้งานจากองค์กรต่างๆ ที่ในหลวงของเราก่อตั้งขึ้นมา และทรงใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficient Economy) ของในหลวงเราในการปกครองและบริหารประเทศ กษัตริย์จิกมีทรงปกครองและบริหารประเทศ ภูฏาน โดยหลัก ความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness (GNH) พระองค์ไม่ทรงเน้นผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ Gross National Product (GDP) เหมือนประเทศ อื่นๆ ครอบครัวคนภูฏานที่มีฐานะจะส่งบุตรหลานมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และมาจับจ่ายใช้สอยสินค้าแบรนด์เนมที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็มาพักรักษาตัวใน โรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร ฉะนั้นคนภูฏานถือว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เรารับรู้มา เราเลยอยากจะตอบแทนน้ำใจและคืนกำไรให้เขาบ้าง เมื่อเขาต้องการมาเรียนรู้ เราก็สอนให้เต็มที่ เพราะถือว่าเป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศไทย มีอะไรที่เราจะตอบแทนได้เราทำเต็มที่เลย อยากสร้างความประทับใจให้สมกับการที่เขารักเมืองไทย รักในหลวงของเรา จริงๆ  

back