“ป้ายบอกทาง” ให้นักศึกษาวิชาการพิมพ์............ไชยวัฒน์ จิรพัทธพงศ์

27 มิถุนายน 2561 | 10:56 น.

“ป้ายบอกทาง” ฉบับนี้ ขอเป็น ป้ายบอกทางให้นักศึกษาวิชาการพิมพ์ แบ่งปันแนวคิดของผมที่มีต่อการเรียนการสอน วิชาการบรรจุภัณฑ์ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ซึ่งเป็นสถาบันสอนการพิมพ์แห่งแรกของไทย ที่ได้ผลิตบุคลากรชั้นนำให้กับอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทยมายาวนานกว่า 60 ปีแล้ว คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณอะไรกันอีกนะครับ เพราะมี result proof ให้เห็นกันอยู่มากมายทีเดียว เมื่อปลายปี 2558 ท่านอาจารย์ไพบูลย์ กลมกล่อม หัวหน้าภาควิชาการพิมพ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้ติดต่อขอให้ผมมาช่วยสอน วิชาการบรรจุภัณฑ์ โดยเน้นด้านการพิมพ์เพื่อการบรรจุภัณฑ์ ให้แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ในช่วงเทอมสุดท้าย เริ่มที่รุ่น 57 ปัจจุบันเป็นรุ่น 59 ช่วงเวลา มกราคม-พฤษภาคม 2559 นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ผมมีโอกาสได้เป็นป้ายบอกทางให้กับนักศึกษาของสถาบันที่มีชื่อเสียงแห่งนี้

        ตอนแรกผมรู้สึกเป็นกังวลเรื่องเวลาที่จะต้องสอนเต็มเทอม และเรื่องหลักสูตรที่ถูกร่างเสร็จมาแล้ว จะปฏิเสธก็เกรงใจ แต่ใจจริงก็อยากจะถ่ายทอดให้ความรู้ ก็เลยตอบตกลง และเริ่มมองหาวิธีการสอนที่จะช่วยให้นักศึกษาที่เรียนจบแล้ว หรือผู้ที่อยากจะทำงานสายนี้ สามารถนำไปประกอบวิชาชีพการพิมพ์เพื่อบรรจุภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้เสียชื่อเสียงสถาบันเก่าแก่ของแห่งนี้แน่นอน ผมต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ กว่าจะตั้งเป้าแนวทางที่จะสอนได้

        โดยขอปรับเนื้อหาหลักสูตรบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง แน่นอนพื้นฐานความรู้ต้องครบ และเน้นเนื้อหาความรู้ใหม่ วิธีการคิดที่สอดคล้องกับปัจจุบันและอนาคต พยายามเป็น coaching ให้กับนักศึกษา เพราะผมมีความเชื่อว่าพวกเราทุกคนที่เกิดมาก็เป็นผู้ชนะ แต่บางคนขาดโอกาสและกัลยาณมิตร ขาดการแนะแนว จึงเอามาเน้นในหลักสูตรดังต่อไปนี้ 1) เน้นเรื่องวัสดุและกระบวนการหลังพิมพ์เพื่อการบรรจุภัณฑ์ การออกแบบโครงสร้าง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นหัวใจสำคัญของการบรรจุภัณฑ์ทีเดียว 2) เน้นเรื่องแรงบันดาลใจ เพื่อให้นักศึกษาได้เห็น และเชื่อว่า การพิมพ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

               เมื่อมีความเชื่อมั่นแล้วก็จะตั้งใจเรียน และสามารถนำไปประกอบอาชีพทางการพิมพ์ได้ จนเกิดเป็นความถนัด เกิดความรัก (passion) ถือได้ว่า นี่คือหนทางแห่งความสำเร็จ ในความคิดผม 3) สอดแทรก ประสบการณ์วิชาชีพของผม ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์มานานกว่า 40 ปี ถือเป็น “ป้ายบอกทาง” ได้อย่างหนึ่ง เพราะผมมีประสบการณ์ทั้งในด้านการเป็นลูกจ้าง นายจ้าง ที่ปรึกษา และติดตามการเปลี่ยนแปลงในโลกการพิมพ์ เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ผมได้มีประสบการณ์กับนักศึกษาวิชาการพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่กำลังเรียนใกล้จะจบ คล้ายๆ กับเป็นการปัจฉิมนิเทศ ได้ผลครับ 4) เน้นเรื่องการศึกษาดูงานในสถานประกอบการจริง เช่น การดูงานหลังพิมพ์ที่บริษัท สุพรชัย จำกัด ซึ่งเมื่อนักศึกษาได้เห็นและเข้าใจกระบวนการงานหลังพิมพ์เป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถสร้างเสริมประสบการณ์ได้จริง 5) สร้าง Mind Map สร้างความเข้าใจ ให้รู้จักการจับประเด็นที่สำคัญๆ สร้างภาพให้เกิดขึ้นในใจให้ได้ เช่น ในกระบวนการผลิตนั้น ถ้าเราคิดและนึกออกเป็นภาพได้ ก็จะทำให้การนำเสนอ อธิบาย สื่อสารกับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า ของเราได้ง่ายขึ้น ปีแรกที่ได้มาสอน รุ่นที่ 57

                 ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้น่าจะยากสำหรับนักศึกษาที่ยังไม่เคยชิน จึงทดลองโดยเริ่มแต่น้อยก่อน โชคดีได้มีโอกาสสอนต่อมาอีก 2 รุ่น คือ รุ่น 58, 59 จึงได้ปรับและจัดหลักสูตรให้เข้มข้นขึ้น และได้ผลตามที่คาดไว้ การเรียนการสอนรุ่น 57 มกราคม-พฤษภาคม 2557 ภาพเหล่านี้ เป็นแนวทางการสอนของผม คือ ให้นักศึกษาทุกคนและทุกกลุ่ม นำเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบรรจุภัณฑ์ที่ตัวเองได้อ่านมาแล้ว มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้ถกเถียงกัน เป็นประเด็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พอเริ่มมีประสบการณ์ดังกล่าว นักศึกษาก็จะเริ่มรู้สึกผ่อนคลายและมีความสนุก มีความสุขที่ได้นำเสนอผลงานของตัวเองเป็นภาพกราฟิก ทำให้ผมมีความสุขใจจริงๆ ครับ การเรียนการสอน รุ่น 58 มีนาคม–พฤษภาคม 2560

                นักศึกษาสามารถแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ มาตลอดทั้งเทอม โดยการวาดภาพต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านสาขาเป็นวิชาต่างๆตามที่ได้เรียนรู้มา..... บอกแล้ว...ถ้าลองเขาเข้าใจ พวกเขาก็ทำได้ทั้งนั้น การเรียนการสอน รุ่น 59 พฤศจิกายน 2560 – มีนาคม 2561 เป็นสิ่งที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่า นักศึกษาจะสามารถสื่อสารความคิดของเขาออกมาในรูปแบบตามรูปข้างล่างนี้ surprise ผมมากๆ ครับ สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบพระคุณ อาจารย์ผกามาศ ผจญแกล้ว ที่มอบชุดวิชาการบรรจุภัณฑ์ ให้ผมได้ใช้เป็นแบบเรียน อ้างอิง และขอขอบพระคุณ ท่านอาจารย์ มานิตย์ กมลสุวรรณ ซึ่งเคยสอนผมที่จุฬาฯ เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว ท่านได้กรุณาหอบตัวอย่างกล่องที่ยังไม่ขึ้นรูปและขึ้นรูปแล้ว สองกล่องใหญ่มาให้ผมเมื่อตอนต้นปี 2558 เหมือนเป็นพลังจักรวาลที่รู้ว่าผมต้องมาสอน ท่านเลยจัดเต็มมาให้ เลยได้นำมาใช้เป็นตัวอย่างประกอบการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษาเข้าใจง่ายมากขึ้น

back