คุณชีวพัฒน์ ณ ถลาง

ตำแหน่ง:MD Printing Business / Chief Technical Officer (CTO) 
บริษัท: บจม. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง 
How to keep your printing house alive!!!
“การพิมพ์จะตายไหม” “โรงพิมพ์จะอยู่รอดได้อย่างไร” เชื่อว่า คนทำโรงพิมพ์ในปัจจุบัน คงครุ่นคิดเรื่องนี้กันมากทีเดียว ทั้งที่ผู้รู้ทั้งหลายได้พร่ำบอกว่า การพิมพ์จะยังไม่ตาย แต่โรงพิมพ์นั่นแหละที่จะตาย หากไม่รู้จักที่จะปรับเปลี่ยน ปรับปรุงตัวเองให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆด้านบนโลกใบนี้ แล้วโรงพิมพ์จะต้องปรับปรุง ปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างไรเพื่อจะได้อยู่รอดได้ ต่างคนต่างพูดกันไป บ้างก็ให้ไปศึกษาเรื่อง การพิมพ์ลักษณะพิเศษบ้าง บ้างก็แนะนำให้นำเครื่องพิมพ์ Digital เข้ามาช่วยบ้าง บ้างก็ให้หนีไปทาง Packaging หรือ Security Printing ก็ว่ากันไป แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร
“ในวงการพิมพ์” ฉบับนี้ ขอนำเสนอวิธีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของ บจม. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จากคำบอกเล่าของ คุณชีวพัฒน์ ณ ถลาง MD Printing Business / Chief Technical Officer (CTO) ให้คุณผู้อ่านได้พิจารณาศึกษาหาประโยชน์ หรือใช้เป็นแนวทางการปรับปรุงโรงพิมพ์ตามความสามารถของตนเองดูบ้างนะคะ
ส่วนปฐมเหตุที่ทำให้ “ในวงการพิมพ์” ได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับคุณชีวพัฒน์ ก็เนื่องมาจากการที่ บมจ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ RMGT รุ่น 920 จากบริษัท ไซเบอร์ เอส เอ็ม (ไทย) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายเครื่องพิมพ์ RMGT ในประเทศไทย พร้อมกันทีเดียว 3 แถว ข่าวการซื้อเครื่องพิมพ์ใหม่ถึง 3 แถว ในขณะที่ก็รู้กันดีว่าสถานภาพการพิมพ์โดยเฉพาะการพิมพ์ประเภทคอมเมอเชี่ยลไม่สดใสเหมือนในอดีต ทีมงาน “ในวงการพิมพ์” จึงได้ติดตามทีมงานของ ไซเบอร์ เอส เอ็ม (ไทย) ไปเจาะประเด็นการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ดังกล่าว โดยคุณชีวพัฒน์ ให้เกียรติมาเปิดใจบอกเล่าที่มาที่ไปให้ได้รู้กัน เมื่อวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมลูกค้า บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง โรงพิมพ์ยักษ์ใหญ่แถวหน้าของประเทศไทย ย่านตลิ่งชัน
ในฐานะที่เป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งงานผลิตนิตยสารและงานพิมพ์หนังสือ ซึ่งแน่นอนว่า การมาถึงของระบบ อิเลกทรอนิกส์ทั้งหลาย ที่จะทำให้ “ภูมิทัศน์” ของการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนแปลงไปแทบจะเรียกได้ว่า “โดยสิ้นเชิง” ทำให้โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างได้รับผล กระทบอย่างหนักกันทั่วหน้า

อยากทราบว่า อมรินทร์ฯ มีวิธีการปรับตัว เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรบ้างคะ
“การปรับตัวของเรา อย่างแรกเลยก็คือ เราต้องมองภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อและการพิมพ์ในอนาคต ต้องมองให้ออก เราเป็นอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนพัฒนาโครงสร้างของเราให้สอดคล้องกับแนวคิดการทำสื่อสมัยใหม่ ภายใต้คำว่า “On” คือ

On Line : การทำสื่อสิ่งพิมพ์ ออนไลน์ เช่น
นิตยสารออนไลน์, โรงพิมพ์ออนไลน์ เป็นต้น
On Print : การผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ในระบบโรงพิมพ์
On Air : การทำสื่อโทรทัศน์
On Ground : การจัดงาน Fair ต่างๆ ของบริษัทฯ เช่น งานบ้านและสวน, งาน Baby&Kids
รวมทั้งจัดงาน events ตามที่ลูกค้าต้องการ
On Point of Sales (Retail Shop) : คือ การขยายช่องทางการขายสินค้าในเครือ ผ่าน Retail Store
(ร้านนายอินทร์ ซึ่งมีอยู่กว่า 200 สาขา)

โดยทั้ง 5 On นี้ ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน โดยมี MD ดูแลประจำทุก On เลยนะครับ
ส่วนตัวผม ผมดูแลทั้ง On Air ซึ่งผมเป็น CTO (Chief Technical Officer) ดูแลด้านเทคนิค และ MD On Print ด้วย แต่วันนี้ ขอพูดเรื่องโรงพิมพ์ละกัน หลักๆก็คือ ทำอย่างไรให้ On Print อยู่รอดได้ ผมก็มาคิดดูว่า ทุกวันนี้โรงพิมพ์จะแข่งกันที่ราคาค่าพิมพ์ ซึ่งก็มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ แต่เทคโนโลยีการพิมพ์ออฟเซตมันไม่เปลี่ยน ยังมีการใช้เพลท ใช้ผ้ายาง ใช้น้ำยาเหมือนเดิม ทำอย่างไรเราจะลดค่าเพลท ค่าน้ำยา ค่าสูญเสียอื่นๆได้บ้าง เลยได้ความคิดว่า ต้องเปลี่ยนสเป็กเครื่องพิมพ์ให้เข้ากับลักษณะงานพิมพ์ ซึ่งงานพิมพ์ของเรา 80-90% เป็นงานพิมพ์ 4 สีพร้อมเคลือบเงาแบบฐานน้ำ waterbase ซึ่งเครื่องพิมพ์แบบนี้ยังมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ที่มีหน่วยเคลือบติดมาด้วย จะเป็นเครื่องพิมพ์ 5 สี + coater ซึ่งราคาไม่ต่ำกว่า 50-60 ล้าน และบ้างก็ยังมีขนาดใหญ่เกินความจำเป็นของเรา คือ มีขนาด 28x40 นิ้ว ซึ่งเพลทก็ต้องใหญ่ไปด้วย เปลืองน้ำยา เปลืองผ้ายาง เปลืองหมึก เปลืองไฟ ขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น เครื่องพิมพ์ที่เราต้องการซึ่งเหมาะกับลักษณะงานของเราที่สุด คือเครื่องพิมพ์ 4 สี ขนาด 25 x 36 นิ้ว พร้อมหน่วยเคลือบ นี่คือ การสร้างนวัตกรรมเครื่องพิมพ์ใหม่เพื่อรองรับตลาดของเรา คือ งานพิมพ์ 4 สี เคลือบเงา คุณภาพสูง
เครื่องพิมพ์ที่เราสั่งซื้อคราวนี้ คือ เครื่องพิมพ์ RMGT 920 ของญี่ปุ่น ซึ่งผลิตออกมาในช่วงที่เรากำลังจะเปลี่ยนเครื่องเก่าซึ่งใช้งานมานานมาก จนค่าซ่อมแพงกว่าค่าเสื่อมราคาที่เราจะซื้อเครื่องใหม่ไปแล้ว ก็ต้องซื้อเครื่องใหม่ บางคนซ่อมไปเรื่อยๆเพราะต้องการประหยัด แต่ปีหนึ่งๆคุณเสียค่าซ่อมไปเท่าไร ถ้ามากกว่าค่าเสื่อม ก็ควรซื้อเครื่องใหม่ ได้ทั้งคุณภาพกลับมาและไม่ต้องเสียเวลาซ่อม เครื่องพิมพ์ RMGT 920 ที่จะติดตั้งใช้งานพร้อมกัน 3 เครื่องนี้ เป็นเครื่องพิมพ์เฟรมเล็กก็จริงแต่ไฮเทคมาก ทั้งทันสมัย ใส่ลูกเล่นได้เต็มพิกัด หากใครคิดจะไปแนวนี้กับผม ก็คงต้องไปซื้อเครื่องพิมพ์ประเภทนี้มาใช้กันนะครับ ทุกวันนี้ เราชอบแข่งกันลดราคา แต่ผมว่าเราควรมาแข่งกันที่ฝีมือ แข่งกันที่ความคิดสร้างสรรค์ ทำอย่างไรให้สิ่งพิมพ์ของเรา หนังสือของเรา แปลกใหม่ ดูดี มีคุณค่าน่าเก็บรักษา น่าจะดีกว่านะครับ ยิ่งถ้าเราสามารถต่อยอดงานพิมพ์ด้วยงาน finishing ได้ด้วย ไม่ใช่ทำแค่ปกแข็งทั่วไป ถ้าเราทำได้ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนคุณค่าให้ลูกค้าตลาดพรีเมี่ยมพอใจได้ไม่รู้จบ” คุณชีวพัฒน์ กล่าวพร้อมกับหยิบหนังสือเล่มกะทัดรัด เป็นเรื่องเกี่ยวกับป่า พิมพ์สวยมาก เวลาเปิดอ่าน จะมีเสียงนกร้องให้ฟังเพลินๆด้วย คุณชีวพัฒน์ อธิบายว่า “เราเอาระบบ printed electronics แบบมีเสียงนี้มาใส่ไว้ใน
ขั้นตอน finishing ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญมากๆที่ผู้ประกอบการจะต้องมองให้ออกว่า จะเอามันมาเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันได้อย่างไร จะนำมาดัดแปลงให้เกิดเป็นสินค้ารูปแบบใหม่ๆเพื่อนำเสนอลูกค้าได้อย่างไร ถ้ามองไม่ออก ออกแบบไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะสร้างสิ่งใหม่ๆได้ การที่เราจะสามารถนำเสนอลูกเล่นใหม่ๆได้นั้น เราต้องให้ความสำคัญกับพวก R&D ให้มากๆ
นอกจากนี้ ผมยังมีความมั่นใจในเรื่องของศิลปะ งานศิลปะราคาไม่มีวันตก แม้แต่งานหนังสือก็ต้องมีศิลปะ มีดีไซน์ ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์เท่านั้น แต่ต้องมีเนื้อหา มีวิธีการนำเสนอที่มีเสน่ห์ ชวนให้ติดตาม รูปแบบอาจดูง่ายๆ แต่อ่านแล้ววางไม่ลงเลย นี่คือคุณค่า คือเสน่ห์ของนักเขียน รูปถ่ายก็สร้างความแปลกใหม่ได้ ลูกค้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่รักงานศิลปะ เขาจะซื้อเพราะพอใจที่จะซื้อ แต่มันก็ไม่ใช่จะง่าย หนังสือเล่มหนึ่งจะออกแบบอย่างไรที่จะบอกได้ว่าเป็นงานอาร์ต เป็นงานศิลปะ
ส่วนเรื่องของการพิมพ์ดิจิตอล ที่นำมาใช้สำหรับการทำ short run หรือการพิมพ์หนังสือออกมาลองตลาด ก็ใช้การพิมพ์ดิจิตอลทั้งนั้น และที่จะเกิดต่อไป คือ web to print คือการทำต้นฉบับเป็น pdf อยู่บนเน็ต เราเป็นคนพิมพ์ให้ ทุกเจ้าที่ใช้เครื่องพิมพ์ดิจิตอล ก็จะหันไปทางนี้หมด เป็นตลาดใหญ่ที่เด็กรุ่นใหม่สนใจ ตอนนี้ผู้ผลิตบางรายได้พัฒนาเครื่องพิมพ์ให้ต่อกับเครื่องไสกาวออกมาเป็นเล่มเลย เรียกเครื่อง Expresso Book Machine เราก็มีแผนเอามาลิงค์กับ Online และ On Print ของเรา เอาไปตั้งไว้ในร้านนายอินทร์ (On POS) สั่งซื้อเสร็จ ก็นั่งจิบกาแฟ (ของร้านนายอินทร์นั่นแหละ) รอรับหนังสือไปได้เลย
ทั้งหมดที่พูดมานี้ เป็นมุมมองของผม เป็นหนทางของการอยู่รอด เผื่อเพื่อนๆโรงพิมพ์อยากจะพัฒนาตลาดนี้ ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า สิ่งพิมพ์ยังจะคงอยู่ต่อไป สิ่งพิมพ์ จะยัง ไม่ตาย แต่ถ้าเรามองไม่ออก เราเองซิจะตาย จริงๆ นะครับ” คุณชีวพัฒน์สรุปตบท้ายแบบสบายๆ ไม่ซีเรียสเลย

“ในวงการพิมพ์” ก็หวังว่า คุณผู้อ่านจะได้ข้อคิดดีๆจากบทความนี้ ไม่มากก็น้อยนะคะ
back