คุณศิริชัย สรานุกูล

ตำแหน่ง:กรรมการผู้จัดการ
บริษัท: บริษัท ริโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด

“RISO” Updated !

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเครื่องที่ใช้ในการทำสำเนาเอกสารสิ่งพิมพ์ จึงมีชื่อเรียกต่างกัน บ้างเรียก “เครื่องอัดสำเนา” (Duplicator) บ้างเรียก “เครื่องถ่ายเอกสาร” (Copier) บ้างเรียก “เครื่องพิมพ์” (Printer) โดยผลผลิตที่ได้จากเครื่องทั้ง 3 ต่างก็เป็นแผ่นกระดาษที่ถ่ายทอดข้อความและภาพตามแผ่นต้นฉบับทุกอย่างเหมือนกันทั้ง 3 เครื่อง เข้าใจว่า ที่เรียกต่างกัน คงเป็นเพราะกระบวนการที่จะได้มาซึ่งสำเนาของเครื่องทั้ง 3 มีความต่างกัน (มั๊ง) แต่ไม่ว่าเครื่องเหล่านี้จะมีชื่อหรือมีระบบการทำงานต่างกันอย่างไร แต่เป้าหมายในการผลิตเครื่องของตนจะเหมือนกันหมด นั่นคือ “การเป็นเครื่องที่ ทันสมัย ทำงานง่าย สามารถถ่ายทอดทั้งภาพและสีได้เหมือนต้นฉบับ ด้วยคุณภาพและความเร็วสูง ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ดี วารสาร “ข่าวสารในวงการพิมพ์” ฉบับนี้ จะขอพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักและเรียนรู้กระบวนการผลิตสำเนาเอกสารสิ่งพิมพ์ ของเครื่องอัดสำเนายี่ห้อดังจากประเทศญี่ปุ่น ที่นอกจากจะมี ชื่อเสียงมายาวนานถึง 70 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้ขึ้นชั้นเป็นทั้งเครื่องพิมพ์และเครื่องอัดสำเนา (ในเครื่องเดียวกัน) ที่มีทั้งคุณภาพและความเร็วสูงสุดถึง 160 แผ่น/นาที......

 



ใช่แล้วค่ะ เรากำลังจะพูดถึงเครื่องอัดสำเนาระบบดิจิตอล ของ บริษัท ริโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีคุณศิริชัย สรานุกูล กรรมการผู้จัดการ ให้เกียรติร่วมสนทนาและพาชมเครื่องรุ่นต่างๆที่ตั้งโชว์อยู่ในสำนักงานใหญ่ ชั้น 10 อาคารไพโรจน์ ถนนบางนา-ตราด กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560

คุณศิริชัย เล่าให้ทีมงานฟังว่า ตัวเองจบการศึกษาสาขาวิศวกรรม อิเล็กทรอนิคส์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมงานกับบริษัท เก็สเต็ดเนอร์ จำกัด เป็นเวลา 16 ปี ก่อนจะลาออกมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ริโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทสาขาของ บริษัท ริโซ่ คากากุ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น โดยคุณศิริชัย รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการตั้งแต่วันที่ก่อตั้งบริษัท (24 มกราคม 2538) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ นอกจากบริษัทจะมีสาขาประจำอยู่ใน 5 จังหวัด ทั้งเชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา และสงขลาแล้ว ยังมีตัวแทนจำหน่ายประจำอยู่ทั่วไทยจากเหนือจรดใต้อีก 15 รายด้วย

 



“---ธุรกิจของเราเริ่มต้นจากเครื่องอัดสำเนาระบบดิจิตอล (Digital Duplicator) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นเครื่องสีเดียว รุ่น Risograph เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ “ริโซ่” ได้พัฒนาขึ้นเพื่อต่อยอดการทำสำเนาแบบเดิม หรือที่เรียกกันติดปากว่า “โรเนียว” ที่ต้องใช้แม่พิมพ์กระดาษไข วิธีการทำงานดูคล้ายกับการพิมพ์ออฟเซ็ต คือมีลูกโมใส่หมึก บนลูกโมมีผ้าไหมติดตรึงอยู่ (เหมือนผ้ายาง) ต่อจากนั้น กระดาษไขที่เป็นแม่พิมพ์จะถูกติดทับบนผ้าไหม เมื่อเดินเครื่อง หมึกจากลูกโมจะถูกอัดลงบนผ้าไหมซึ่งจะถ่ายทอดหมึกต่อให้กับกระดาษไข หลังจากนั้นกระดาษไขก็จะถ่ายทอดหมึกลงบนกระดาษในรูปแบบที่ต้องการ ต่อไป” คุณศิริชัยอธิบายพร้อมกับชี้ชวนให้ดูส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องอัดสำเนาดิจิตอลรุ่นแรก ที่ยังทันสมัย ทำงานง่าย ได้สำเนาคมชัด

- ริโซ่ในปัจจุบัน

“---จากการทำสำเนาแบบสีเดียว เราได้พัฒนาต่อมาเป็นเครื่องรุ่นล่าสุดคือรุ่น ComColor (Communication in Color) ซึ่งเป็นทั้งเครื่องพิมพ์และเครื่องอัดสำเนาในเครื่องเดียวกัน โดยใช้เทคโนโลยีอิงค์เจ็ท สามารถทำสำเนาได้ทั้งขาวดำและสี่สี ด้วยความเร็วสูง เครื่องรุ่นนี้ แยกเป็น 2 ซีรี่ส์ คือ GD. Series สำหรับรองรับงานปริมาณมากๆ และเนื่องจากระบบของ “ริโซ่” ไม่มีความร้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสามารถพิมพ์งานด้วยความเร็วสูงสุดถึง 160 แผ่น/นาที ได้ต่อเนื่องกันโดยไม่ต้องหยุดพักเครื่องเป็นระยะๆ ส่วนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นรุ่นรองลงมาคือ FW.Series ความเร็วที่ 120 แผ่น/นาที โดยทั้ง 2 ซีรี่ส์ ใช้หมึกพิมพ์ฐานน้ำมัน Oil based ทำให้หมึกไม่เลอะเมื่อถูกน้ำ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เครื่องของ “ริโซ่” ปราศจากทั้ง “กลิ่น” และ “ฝุ่นผง” จึงปลอดภัยต่อสุขภาพของทุกคนที่เกี่ยวข้องครับ”



- จุดแข็งของริโซ่

“---ด้านจุดแข็งของ “ริโซ่” นั้น ต้องเรียนให้ทราบว่า “ริโซ่” อยู่กับเทคโนโลยีการทำสำเนามาแล้วกว่า 70 ปี ในเมืองไทยเอง “ริโซ่ (ประเทศไทย) ก่อตั้งมากว่า 20 ปี จุดแข็งจึงเป็นเรื่องของบุคคลากร ที่มีความรู้ ความชำนาญการในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างดี สามารถให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา บริษัทขนาดใหญ่ๆ ซึ่งล้วนมีการทำสำเนาเอกสารในปริมาณมากๆ ฯลฯ ต้องบอกว่า เครื่องของ “ริโซ่” อาจไม่สามารถตอบสนองตลาดในแนวกว้างได้ก็จริง แต่หากเป็นงานพิมพ์ งานถ่ายเอกสารในปริมาณมากๆ และอย่างต่อเนื่องแล้ว ขอบอกว่า “ริโซ่” คือเครื่องที่ “ใช่” ทั้งในด้านของคุณภาพ ประสิทธิภาพ และ ราคา เลยครับ”

- การพิมพ์ในอนาคต

“---ผมมองว่า ทุกวันนี้ อะไรที่เป็นอนาล็อกก็แทบจะไม่มีเหลือแล้ว แน่นอนที่สุด การพิมพ์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบอะไรก็ตาม จะต้องเปลี่ยนไปเป็นดิจิตอลล้วนๆ อุตสาหกรรมการพิมพ์ถูกปรับเปลี่ยนมาโดยตลอด ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งจงใจ และไม่มีทางเลือก ไม่ได้แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ คำว่า Print on Demand เข้ามาตั้งนานแล้ว แต่คนในวงการนี้พยายามจะไม่เชื่อ พยายามบอกตัวเองว่า ไม่น่ากระทบ อันที่จริง ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งจะทำนายอนาคตได้แม่นยำทั้งหมด ขอเพียงแค่พยายามติดตามเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา และ ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ได้ แค่นี้เราก็น่าจะรักษาธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันไว้ได้นะครับ” คุณศิริชัยกล่าวทิ้งท้าย



ฝากทั้งกำลังใจและข้อคิดในการประกอบธุรกิจถึงคุณๆ ผู้อ่าน “ในวงการพิมพ์” ทุกท่านด้วยค่ะ!

back