คุณสกุลทิพย์ สันติชัยอนันท์

ตำแหน่ง:เจ้าของ
บริษัท: บริษัท แพน แปซิฟิค ปริ้นติ้ง จำกัด

“ I cannot be still ”, said Sakultip, PPP’s Marketing Mgr.

การเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง แถมยังสนใจ ขยัน หมั่นหาวิชาความรู้ หากิจกรรมใหม่ๆ ให้ตัวเองได้เข้าร่วมอยู่เสมอๆ แม้กิจกรรมเหล่านั้นจะดูเหมือนไม่เกี่ยวกับธุรกิจการงานที่ตนเองทำอยู่ก็ตาม ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญประจำตัวนี้เอง ที่ทำให้คุณสกุลทิพย์ สันติชัยอนันท์ หรือคุณจอร์ช เจ้าของบริษัท แพน แปซิฟิค ปริ้นติ้ง จำกัด สามารถประกอบธุรกิจ พลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้โดยง่าย น่าสนใจใช่ไหมคะ

ข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” กับคุณจอร์ช เคยทักทายสวัสดีกันในงานต่างๆ ทั้งงานสัมมนาวิชาการ งานแสดงทางการพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศ แม้กระทั่งงานบุญ ถวายภัตตาหารพระธุดงค์หมู่ใหญ่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เช้า 4 นาฬิกา ก็ยังได้เจอหน้ากันโดยมิได้คาดหมาย แต่ก็ยังไม่เคยได้รู้จักกันในเชิงลึก เลยขออนุญาตนัดคุยกันให้เป็นเรื่องเป็นราวซะที วันนี้ (29 มีนาคม 2560) ทีมงาน ข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” จึงมีโอกาสเข้าพบ คุณจอร์ช ถึงห้องทำงานที่ดูจะเล็กไปถนัดเพราะเต็มไปด้วยผลงานตัวอย่าง MKT และผลงานที่ได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ตั้งโชว์ไว้จนล้นออกมานอกห้องเลยค่ะ

 


คุณจอร์ชได้เล่าให้ทีมงานฟังว่า ตัวเองเป็นคนที่ชอบงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ และไม่ชอบเรียนทั้งวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ เมื่อเรียนถึงชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เลยลาออกไปเรียนที่โรงเรียนช่างศิลป ลาดกระบัง สอนวาดรูปอย่างเดียว จริงๆ แล้วที่บ้านไม่ชอบใจเลย แต่ด้วยความที่เป็นลูกคนเล็ก คุณพ่อคุณแม่เลยไม่ห้าม เรียนอยู่ 2 ปีก็ไปสอบเทียบ และเข้าเรียนต่อที่คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขานิเทศศิลป์ ก็เรียนพวกออกแบบเป็นหลัก ตอนนั้นเริ่มมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กันแล้ว ทุกปีพอเรียนใกล้จะจบ บริษัทเอเยนซี่จะเข้ามาจัดงานประกวดชิงรางวัล B.A.D Awards โดยผู้ชนะจะได้เข้าทำงานในบริษัทเอเยนซีด้วย ตัวเองเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เข้าประกวด เพราะอยากเป็นอาร์ต ไดเร็กเตอร์ แต่พอได้ไปทำงานจริงๆ ถึงรู้ว่า โลกไม่ได้สวยอย่างที่คิด ต้องปากกัดตีนถีบ เพราะการแข่งขันสูงมาก

พอดีโรงพิมพ์ดิจิตอล ออฟเซ็ต ที่อยู่ใกล้บ้าน กำลังรับสมัคร AE ก็เลยได้ทำงานที่โรงพิมพ์นี้ ทั้งที่ตอนนั้นไม่รู้เรื่องการพิมพ์เลย รู้แต่เรื่องออกแบบ คุณจอร์ชเล่าอย่างขำๆ ว่า โดนรุ่นพี่ที่เป็นคนเทรนงาน ทดสอบความรู้ทางการพิมพ์ โดยเอาหนังสือที่พิมพ์ 4 สีมาให้ดูและให้ตอบว่าหนังสือมีกี่สี ตัวเอง ก็นับใหญ่ แถมตอบด้วยความมั่นใจว่า 10 สีค่ะ (555) โชคดีที่คุณจอร์ชได้ทำงานที่นี่ เพราะเป็นโรงพิมพ์ออฟเซ็ตที่ลงเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอล Indigo เครื่องแรกในประเทศไทย เลยทำให้คุณจอร์ชได้เรียนรู้เรื่องการพิมพ์ของทั้ง 2 ระบบค่อนข้างดี และต่อมาก็ได้นำความรู้นี้ไปใช้ในการทำวิทยานิพนธ์เมื่อได้เรียนต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)

คุณจอร์ชทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์ ดิจิตอล ออฟเซ็ต ได้ 5 ปี ก็ลาออกมาเปิดบริษัทของตนเองชื่อ บริษัท แพน แปซิฟิก ปริ้นติ้ง จำกัด (Pan Pacific Printing) “ตอนนั้นจำได้ว่า ได้โบนัสมา 5 หมื่นบาท เอามาซื้อเครื่องแฟ็กซ์ 1 ตัว โต๊ะทำงาน 1 ตัว ใช้บ้านเป็นที่ทำงาน ทุกอย่างทำเองหมด เราเลือกเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเพราะชอบที่การลงทุนไม่สูงนัก ทำงานได้หลากหลาย ใช้คนไม่มาก เปลี่ยนแปลงได้ตลอด พอย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันก็ลงเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทเรื่อยมาเลยค่ะ” เครื่องล่าสุดที่เพิ่งติดตั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทหน้ากว้างของ HP Latex ที่คุณจอร์ชได้เห็นและเกิดความประทับใจในประสิทธิภาพการทำงานและคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเครื่องรุ่นนี้ในงาน Drupa 2016 ที่เมืองดุซเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี กลางปี 2559

 

 


ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า คุณจอร์ชเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง พอตั้งบริษัทเสร็จ จึงได้ชวนพี่สาวมาเป็นผู้จัดการดูแลด้านการบริหาร เป็นงานนั่งโต๊ะซึ่งคุณจอร์ชไม่ถนัด เลยขอทำหน้าที่ Marketing & Creative ใช้เวลาส่วนใหญ่นำเสนอและติดตามงานให้ลูกค้ากับเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามประสาคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ คุณจอร์ชได้เล่าถึงการทำงานให้เราฟังว่า “การลงเครื่องอิงค์เจ็ทนี่ ถ้าเอามาใช้ทำป้ายอย่างเดียวจะสู้บริษัทคนจีนไม่ได้ เพราะอะไรก็รู้ๆ กัน แต่ลูกค้าก็อยากได้ของถูกแต่มีคุณภาพ เราจึงต้องเปลี่ยนมาประยุกต์ใช้อิงค์เจ็ทกับงานอื่นๆ เพื่อสร้างมูลค่าให้มากกว่างานทำป้าย ให้มีลูกเล่นมากขึ้น อย่างเช่น งานทำกล่องของพรีเมี่ยม ซึ่งเป็นงานที่มีขั้นตอนเยอะ โรงพิมพ์ส่วนมากจะไม่ค่อยรับทำ ถือเป็นโชคดีของเราที่มีเพื่อนฝูงอยู่ในวงการต่างๆ หลากหลาย บ้างก็ให้งาน บ้างก็ช่วยคิด ช่วยให้แนวทางการทำงาน ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ สำหรับงานที่เรารับทำเป็นหลัก คือ งานจัดบูธ งานอีเว้นท์ จัดโปรโมชั่นต่างๆ โดยเราจะรับพิมพ์อิงค์เจ็ทและจัดหาทีมงานติดตั้งให้เสร็จ ส่วนงานที่นอกเหนือจากการพิมพ์อิงค์เจ็ท ก็จะส่งให้เพื่อนโรงพิมพ์ ซึ่งในละแวกสาธุประดิษฐ์ จะมีร้านรับทำงานทางการพิมพ์ ครบวงจรเลยค่ะ”

ตั้งบริษัทได้ไม่นาน คุณจอร์ชก็ไปเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านการพิมพ์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) มจธ. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางการพิมพ์ให้มากขึ้น แม้อายุจะมากที่สุดในชั้นเรียนก็ไม่เป็นปัญหา กลับสนุกสนานกลมกลืนกับทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ผู้สอนเป็นอย่างดี คุณจอร์ชเล่าอีกว่า “ตอนก่อนจะไปเรียน ยังเข้าใจว่า การพิมพ์เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง แต่พอได้เรียนจริงๆ จึงรู้ว่าการพิมพ์คือวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งด้วย เพราะสามารถทดลองได้ พิสูจน์ได้ สามารถ วัดค่า แสดงผลได้ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือศิลปะ งานพิมพ์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เรียนแล้วได้รู้อะไรเยอะเลยค่ะ โดยเฉพาะตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ร่วมกับน้องๆที่คณะฯ เรื่อง การเปรียบเทียบงานพิมพ์หนังสือระบบตามสั่ง โดยเปรียบเทียบงานพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ระบบออฟเซ็ตและระบบดิจิตอล 3 เครื่องด้วยกัน ยิ่งทำให้เราได้เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเราด้วยค่ะ”

ในส่วนของรางวัลต่างๆ ที่ตั้งโชว์ไว้หลากหลายประเภทนั้น คุณจอร์ชเล่าให้ฟังแบบสบายๆ ว่า ตัวเองเป็นคนที่ชอบการประกวดมาก ตั้งแต่เรียน ป. ตรีที่ ม.กรุงเทพ ก็ได้เข้าประกวดชิงรางวัล แบด-อะวอร์ด B.A.D Awards (Bangkok Arts Director’s Association) ดังที่กล่าวแล้ว เพราะคิดว่า “การส่งผลงานเข้าประกวดในงานที่สมาคมต่างๆ จัดขึ้นนั้น เป็นเหมือนการเปิดตัวบริษัทของเราเลย เพราะเราเป็นบริษัทเล็กๆ ไม่มีเงินมากมายที่จะลงทุนโฆษณาบริษัท แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ ก็จะไม่มีใครรู้จักเรา เพราะฉะนั้น การส่งผลงานเข้าประกวดนี่ละ ที่จะทำให้บริษัทเราเป็นที่รู้จักได้ ซึ่งตอนแรกๆ ที่ส่งผลงานเข้าประกวด ยังจับหลักไม่ถูก แต่พอได้เข้าประกวดแล้ว ก็ได้เรียนรู้อะไรๆ มากขึ้น เริ่มได้รางวัลมากขึ้น ปีหลังๆ มานี่เราได้รางวัลเหรียญทอง จากสมาคมการพิมพ์ไทย (Thai Print Awards) และยังได้เหรียญเงินจากเวที Asian Print Awards จากงานชิ้นเดียวกันด้วย ก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะต้องได้ Gold Awards จากเวทีต่างประเทศสักครั้ง ถือเป็นรางวัลของคนทำงาน เพราะทุกครั้งที่ทำงานก็อยากให้ผลงานออกมาดีที่สุด มันเหมือนเป็นกำลังใจให้เรามีแรงทำงานต่อไปเลยค่ะ”

ล่าสุด มีประกาศออกมาแล้วว่า รางวัล TriStar 2017 ที่จัดโดยสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ผลงานของบริษัท Pan Pacific Printing จำกัด ที่ส่งเข้าประกวด สามารถคว้ารางวัลพิเศษสุดหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ได้แก่ รางวัลการออกแบบบาร์โค้ดบนบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่ายสินค้าทั่วไป และอีกหนึ่งรางวัลสำหรับบรรจุ-ภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลนี้ทั้งหมด 10 รายด้วยกัน

ข่าวสาร “ในวงการพิมพ์” ก็ขอแสดงความยินดีและขอเป็นกำลังใจให้คุณจอร์ช สามารถคว้ารางวัลระดับ Gold Awards จากเวทีนานาชาติ ได้สำเร็จตามที่มุ่งมาดปรารถนา ในอนาคตอันใกล้นี้เลยนะ

back