ช่วยกันแชร์ และเชียร์ แนวคิดนี้ด้วยครับ ดีมากๆ เลย กรณียุตินิตยสารสกุลไทย กรณีศึกษาการอ่านของสังคมไทย

“อาจารย์มกุฏ อรฤดี”
บรรยายในห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา
ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๖ กันยายน ๒๕๕๙

ครูถือว่าข่าวการประกาศปิดตัวของนิตยสารสกุลไทยเป็นข่าวสำคัญ ครูจึงนำมาเป็นหัวข้อการเรียนในวันนี้ซึ่งตรงกับ วิชาบรรณาธิการศึกษาที่เรากำลังเรียนกันอยู่

“เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเอเย่นต์จัดจำหน่ายที่ลดลง ทำให้นิตยสารกระดาษค่อยๆลดบทบาทลงในยุคของสื่อดิจิตอลเช่นทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้ สกุลไทยจำเป็นอย่างที่สุดที่ต้องแจ้งต่อท่านผู้อ่านว่า คณะผู้บริหารนิตยสารสกุลไทยได้มีมติให้ยุติการจัดทำนิตยสารสกุลไทย โดยฉบับที่ ๓๒๓๗ ซึ่งจะวางจำหน่ายวันจันทร์ที่ ๓๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ จะเป็นฉบับสุดท้าย...”

หนังสือที่จะอยู่ได้ นิตยสารที่จะอยู่ได้ จะต้องเศรษฐกิจดี ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอยู่ไม่ได้หรอก
ส่วนเศรษฐกิจดีของนิตยสารมาจากว่า มีคนซื้อ มีผู้อ่าน ก็คือรายได้จากการขายนิตยสารนั้น และ รายได้จากโฆษณา
ในกรณีของสกุลไทย แสดงว่ารายได้จากการขายนิตยสารและรายได้จากโฆษณาลดลง
รายได้หลักของนิตยสารทั่วโลก ไม่ได้อยู่ที่การขายนิตยสาร แต่อยู่ที่รายได้จากโฆษณา ถ้าสังเกตย้อนกลับไปประมาณ ๕ ปีที่แล้ว สกุลไทยมีจำนวนหน้ามากกว่านี้ เพราะว่ามีหน้าโฆษณาหลายหน้า

ถามว่าคนอ่านสกุลไทยน้อยลงมั้ย มีคนให้ความเห็นว่าผู้อ่านสกุลไทยไม่ได้น้อยลง แต่ซื้อน้อยลงเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ

ดังนั้น ย่อมมีคนอีกจำนวนมากไปอ่าน สกุลไทยจากห้องสมุด หรือในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ซื้อเพียงฉบับเดียวแล้วหมุนเวียนกันอ่าน เพราะฉะนั้น คนอ่านสกุลไทยจึงมิได้ลดน้อยลง

แล้วทำอย่างไรละ ที่จะให้นิตยสารนี้อยู่ได้?

ถ้าเราพิจารณาสกุลไทยทั้งฉบับ ประมาณครึ่งฉบับเป็นสาระ อีกครึ่งฉบับเป็นบันเทิงคดีนวนิยายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดให้คนอ่าน
ครูคิดว่าคนอ่านนิตยสารสกุลไทย ประมาณ ๘๐% อ่านเพราะนวนิยาย
นอกจากนั้น สกุลไทยยังมีคอลัมน์ที่น่าสนใจอยู่มาก มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจอยู่มาก และเนื้อหาสาระที่น่าสนใจเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม
เราเป็นประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เราจึงวัดการอ่านจากหนังสือที่เรียกว่า Book ไม่ได้ เพราะยังไกลเกินไปที่จะให้คนอ่านหนังสือเล่มหนาๆ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าประเทศไหนก็ตามที่อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา เช่น ประเทศอินเดียเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ก็เริ่มต้นให้ประชาชนรู้จักการอ่านด้วยนิตยสารเล่มบางๆ ที่มีเนื้อหาสาระต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมทั้งนิทานบันเทิงคดีด้วย
เมื่อเขาเริ่มการอ่าน ใฝ่หาการอ่าน หลังจากนั้นเขาจึงไปอ่านหนังสือที่หนาขึ้นๆ
นี่คือตัวอย่างการจัดการเรื่องการอ่านของนักจัดการเรื่องการอ่านของภาครัฐในประเทศอินเดีย
ขณะที่เราจัดการเรื่องการอ่านแบบจัดงาน อีเว้นท์ ตบแต่งซุ้มในงานอย่างสวยงาม เพื่อให้คนแห่กันไปดู แล้วหลังจากนั้นเงินจำนวน ๑๐-๒๐-๓๐ ล้านบาท ก็สูญสลายไป วิธีการอย่างนี้ไม่เป็นผล
แต่วิธีที่จะเป็นผลที่สุด ก็คือ สื่อซึ่งอยู่ในใจของคนมาเป็นเวลา ๖๑ ปีแล้ว ถ้านักจัดการหนังสือที่ฉลาด เขาจะใช้สื่อนี้แหละ เพราะอะไร เพราะว่าสกุลไทยลงทุนให้รัฐบาลมาตั้ง ๖๑ ปีแล้ว

ทำไมรัฐบาลไม่ถามสกุลไทยสักคำว่า คุณขาดทุนเดือนละเท่าไหร่
ถ้าครูเป็นรัฐบาล แค่หยิบเอาค่าโฆษณาของกระทรวงวัฒนธรรมมาสักจำนวนหนึ่ง
ค่าโฆษณาของกระทรวงศึกษาธิการอีกสักจำนวนหนึ่ง
ค่าโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุขอีกสักจำนวนหนึ่ง
และค่าโฆษณาจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอีกจำนวนหนึ่ง ฯลฯ
ในที่สุดเมื่อรวมทั้งหมดก็พอที่จะให้สกุลไทยไม่ขาดทุนและอยู่ต่อไปได้
โครงสร้างการอ่านก็ไม่สูญสลายไป นี่เป็นวิธีคิดที่ง่ายที่สุด
แต่บังเอิญรัฐบาลไม่มีคนที่จะมาคิดและรับผิดชอบเรื่องหนังสือและการอ่านของประเทศ จึงปล่อยให้นิตยสารดีๆ ต้องล้มหายจากไป

เมื่อ ๔-๕ ปีที่แล้ว ร้านหนังสือเล็กๆแห่งหนึ่งในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศว่าจะต้องปิดกิจการ เนื่องจากดำเนินการต่อไปไม่ได้ ประสบกับภาวะขาดทุน วันรุ่งขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสไปที่ร้านหนังสือแห่งนั้น เพื่อที่จะบอกว่าหยุดไม่ได้นะ แล้วผมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ร้านหนังสือของคุณอยู่ได้ จะด้วยวิธีไหนก็ตาม
สำหรับนักจัดการเรื่องหนังสือและการอ่าน นิตยสารที่มีคนอ่านมากกว่า ๑ หมื่นคนขึ้นไป ถือว่าเป็นเครื่องมือสาธารณะ เพราะเราจะใส่สาระอะไรลงไปก็ได้ เพื่อที่จะดึงคนอ่านอย่างพื้นฐานที่สุด จนกระทั่งอ่านสูงขึ้น
ถามว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จบปริญญาเอกหรือนักวิชาการ ระดับสูงถึงระดับศาสตราจารย์เป็นจำนวนมากแค่ไหนหรือไม่ที่อ่านนิตยสารสกุลไทย มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จกี่คนที่เริ่มการอ่านจากนิตยสารเล่มนี้ หรือใช้นิตยสารเล่มนี้เป็นองค์ประกอบในชีวิตด้วย
เมื่อรัฐบาลไม่มีหน่วยงานที่จะมาจัดการดูแลเครื่องมือสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องหนังสือและการอ่าน
แต่นิตยสารสกุลไทยคือเครื่องมือสาธารณะชิ้นหนึ่งที่มีอยู่เป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ไม่มีใครบอกว่านี่คือเครื่องมือของรัฐบาล

ถ้าเปิดดูเนื้อหาข้างใน นิตยสารสกุลไทยทำในบางคอลัมน์ได้ดีกว่ากระทรวงการท่องเที่ยวฯ ในบางคอลัมน์ทำได้ดีกว่ากระทรวงศึกษาธิการ แต่บังเอิญกระทรวงเหล่านี้ไม่รู้จักใช้เครื่องมือ แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าเราหมดเครื่องมือนี้ไป
หากว่าเรามีเครื่องมือวัดจำนวนคนอ่านหนังสือ หมายความว่าวัดปริมาณคนอ่านและวัดปริมาณสิ่งที่อ่าน ท้ายที่สุด ทันทีที่สกุลไทยเลิก ปริมาณการอ่านของคนชนบทก็จะลดลง
เพราะอะไร เพราะให้สังเกตว่านิตยสารสกุลไทยจะมีอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดของสถาบันการศึกษาทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดประจำอำเภอก็มี
หรือแม้แต่การที่ทำให้นิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาสาระครึ่งหนึ่งของจำนวนหน้าทั้งหมด ไปตกอยู่ที่ห้องสมุดกลายๆของประเทศทั้งประเทศ นั่นคือความสำเร็จอย่างใหญ่ยิ่งที่สุด
ห้องสมุดกลายๆ ของทั้งประเทศคืออะไร ร้านทำผม เห็นผลกำไรที่เกิดขึ้นไหม ระหว่างที่รอทำผม หยิบนิตยสารขึ้นมาอ่าน อาจจะอ่านได้เพียง ๘ หน้า ถ้าคนไทยที่เข้าร้านทำผม แล้วได้สาระจาก ๘ หน้านี้ ประเทศนี้จะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าเผื่อมันสูญไป ๘ หน้าละ จะเกิดอะไรขึ้น

นี่คือสิ่งที่ผู้ที่ได้เรียนวิชาบรรณาธิการศึกษาต้องขบคิด หรือจะคิดเพียงแต่ว่าเจ๊งก็เจ๊งไป ไม่เป็นไร

อย่าเชื่อว่าขณะนี้สิ่งที่ล้มหายตายจากไป สืบเนื่องมาจากสื่อดิจิตอล แม้แต่ประเทศฝรั่งเศสเขาก็ไม่เชื่อว่าดิจิตอลจะอยู่ยั้งยืนยง

ดังนั้น หนังสือกระดาษในประเทศฝรั่งเศสจึงคงต้องมีอยู่ รัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามเข้ามาสนับสนุนอย่างยิ่งโดยการออกกฎหมายคุ้มครองเพื่อให้ร้านหนังสือเล็กๆได้คงอยู่ สำนักพิมพ์เล็กๆได้คงอยู่ และนักเขียนนักแปลเล็กๆได้คงอยู่

บังเอิญครูไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ถ้าครูมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาล วันนี้ครูจะไปหาเจ้าของนิตยสารสกุลไทย เพื่อที่จะถามว่าอยากได้สตางค์สักเท่าไหร่ เพื่อให้นิตยสารฉบับนี้อยู่ต่อไป ดีกว่าที่เราจะมาเริ่มต้นกับนิตยสารฉบับใหม่ ซึ่งจะมีคนอ่านสักกี่คนก็ไม่รู้ แต่อย่างน้อยสกุลไทยก็มีคนอ่านอยู่แล้วจำนวนนับแสนคน

การที่ทำให้คนสิบคนอ่านหนังสือ เป็นเรื่องยากมาก แต่สกุลไทยมีผู้อ่านอยู่แล้วทั่วประเทศเป็นแสนคน ทำไมรัฐบาลจึงไม่เข้ามาทำอะไร ไม่ทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วเกิดประโยชน์ให้มากที่สุด

อย่าลืมว่านิตยสารสกุลไทยมีการทำงานเหมือน
นิตยสารชั้นดีอื่นๆทั่วโลก คือมีระบบบรรณาธิการที่ดี มีการเลือกเรื่องที่ดี ที่เห็นประโยชน์สำหรับผู้อ่าน มีวาระพิเศษต่างๆ ในการจัดทำฉบับนั้นๆ หรือถ้ามีการสัมภาษณ์เด็กที่เก่งมาลงในสกุลไทย สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร นั่นคือโฆษณากระทรวงศึกษาธิการที่ดีที่สุด โดยที่กระทรวงศึกษาฯไม่ต้องลงทุนเป็นเงินเป็นทองเลย แต่ว่าผลที่ได้มากมายมหาศาล เพราะคนที่อ่านสัมภาษณ์ จะรู้สึกว่ากระทรวงศึกษาฯนี่เก่ง ทำให้เด็กเก่งและดีได้

ดังนั้น นิตยสารที่ติดตลาดแล้วของชาติใด
ก็ตาม รัฐบาลควรจะดูแลให้คงอยู่ต่อไป เพราะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด ชนิดที่พูดได้ว่า เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการบริหารประเทศด้วยซ้ำ

ขอบคุณ อ.คุณธัม....ที่ไลน์เรื่องนี้มาค่ะ
back