เมื่อสังคมออนไลน์มาแทนที่สังคมกระดาษ เราจะอ่านหนังสือกันแบบไหน

 

รองศาสตราจารย์ ศุภณี เรียบเลิศหิรัญ


 

         ในยุคที่ “อะไรๆ ก็ดิจิทัล” ต้องยอมรับว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่สื่อต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ตมีอิทธิพลสูงต่อวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านของผู้อ่านหนังสือจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและคนหนุ่มสาวที่หันไปอ่านหนังสือ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเรื่องราวที่ตนเองสนใจผ่านอินเทอร์เน็ต โดยการอ่านบนหน้าจอ โทรศัพท์มือถือ (smart phone) หรือคอมพิวเตอร์ แทนการอ่านหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม (printed book, p-book) มีมากขึ้น เทคโนโลยีดิจิทัลจึงมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นอย่างมากมาย


              หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (electronic book, e-book) ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิทัล 4.0 พร้อมเครื่องอ่าน e-book (e-book reader) เช่น Kindle, Kepler ฯลฯ กับการมี “แอป” ในการอ่าน e-book รูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้สบายๆ จาก smart phone สำหรับใช้เป็นสื่อกลางส่งผ่านการเล่าเรื่องจากผู้เขียนไปสู่ผู้อ่าน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างแอป เช่น จอยลดา, ธัญวลัย, Fictionlog, ReadAWrite และ Ookbee ซึ่งขยายตลาดไปในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยมีสำนักงานในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ตัวอย่างร้าน e-book ที่เปิดเว็บไซต์เป็นหน้าร้านขาย e-book ได้แก่ Meb, Naiin, The MATTER (เว็บไซต์ข่าวที่เสนอเป็นข่าวสั้นๆ ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย)
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านครั้งใหญ่นี้มาจากพฤติกรรมการอ่านของผู้คนในยุค 4.0 โดยเฉพาะผู้อ่าน 3 กลุ่ม ซึ่งชื่นชอบการใช้อินเทอร์เน็ต 6-7 ชั่วโมงต่อวัน นิยมอ่าน รับรู้ หรือเสพ (ติด) เรื่องราวต่างๆ ทางออนไลน์ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็คือผู้อ่านกลุ่ม Gen X, Gen Y, Gen Z นั่นเอง


                  ผู้อ่านทั้ง Gen X, Gen Y, Gen Z มักไม่อดทนที่จะอ่านหนังสือที่หนามากๆ เป็นเวลานานๆ ไม่ชอบอ่านอะไรที่ยาวๆ เป็น การอ่านแบบที่เรียกว่า “hyper reading” คือ อ่านแบบสมาธิสั้น หรือ อ่านแบบเร็วๆ เพราะพวกเขาคุ้นชินกับการใช้โปรแกรม สื่อออนไลน์ และเล่มเกมคอมพิวเตอร์ จึงชอบความสนุก เห็นผลรวดเร็ว เพียงแค่กดปุ่มด้วยปลายนิ้วเท่านั้น จึงได้มีการพัฒนา e-book ให้อ่านได้สนุกยิ่งขึ้น โดยลงเนื้อหาเป็นตอนสั้นๆ ติดต่อกันทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ ผู้อ่านกลุ่มนี้ได้ติดตามอ่านได้ตลอดต่อเนื่อง ถ้าเนื้อเรื่องขาดหายไปหรือลงไม่ต่อเนื่อง ผู้อ่านก็จะไม่สนใจติดตามอ่านอีกต่อไป ข้อควรระวังสำหรับการที่อ่านเร็วไป คือ ผู้อ่านเก็บข้อมูลได้น้อย ไม่สามารถวิเคราะห์เนื้อหาที่แท้จริงได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อน ตีความหมายผิดไป นำไปสร้างกระแสต่างๆ ที่เป็นทางลบในโลกโซเชียลได้
ตัวอย่างพฤติกรรมการอ่านแบบ “hyper reading” ที่ชัดเจนมากๆ คือ การอ่าน “นิยายแชต” ที่เป็นนิยาย e-book รูปแบบใหม่ผ่านแอป “นิยายแชต” มีสไตล์การเขียนและการเล่าเรื่องผ่านการแชตที่เป็นบทสนทนาของตัวละคร โดยไม่มีบทบรรยายเหมือนนิยายทั่วไป ทำให้ผู้อ่านโดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว รู้สึกมีส่วนร่วม เหมือนกำลังอ่านไปแชตไป ชอบเพราะอ่านได้เร็ว ทั้งยังใช้งานง่าย คือ ถ้าจะอ่านแบบ “แชตออโต้” บทสนทนาที่แชตอยู่บนหน้าจอจะเลื่อนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องสไลด์หน้าจอให้เมื่อยนิ้ว แต่ถ้าอ่านไม่ทัน สามารถแตะที่หน้าจอเพื่อหยุดได้ ทั้งยังสามารถปรับความเร็วในการอ่านนิยายแชตแบบช้า ปกติ และเร็วได้ตามต้องการ


 นอกจากนี้ การอ่าน e-book ทางออนไลน์ ยังทำให้ e-book มีคุณสมบัติที่โดดเด่น ซึ่ง p-book ทำไม่ได้ คือ การเป็น social book ด้วย เพราะเปิดโอกาสให้ผู้อ่านเข้าไปเขียน comment ได้เลย เกิดสังคมที่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความเห็น ตอบโต้ ต่อเติม ในหมู่ผู้อ่านด้วยกัน การเข้าไป chat หรือคุยกับนักเขียนที่เขียนหนังสือเล่มนั้น ผ่านสื่อโซเชียล กลายเป็นว่าการอ่านหนังสือจะไม่ใช่การอ่านแบบเดิมที่อ่านอยู่ในใจคนเดียว อ่านเงียบๆ และมีสมาธิ แต่จะเป็นการอ่านแบบมี interaction ระหว่างคนหลายคน สร้างวัฒนธรรมการอ่านบนอินเตอร์เน็ตแบบอ่านร่วมกัน (collective experience via internet reading) อ่านไป คุยไป ผู้อ่านแต่ละคน อ่านแล้วมีความคิดเห็นอย่างไรก็มา share หรือ comment กัน และ share กับนักเขียนด้วย เรียกว่า “รีวิว” อาจช่วยเสนอนักเขียนให้ปรับเปลี่ยนเนื้อหา ผู้อ่านมักอ่านแบบไม่เรียงลำดับ อ่านเจาะเป็นตอนตามที่สนใจก่อน หรือตาม “รีวิว” ที่กำลัง share กันเพื่อจะได้เขียนรีวิวตอบได้ทันท่วงที จึงเกิดเป็นประสบการณ์ร่วมที่แสนจะสนุกสนานและได้อารมณ์ไปด้วยกัน นอกจากนี้ e-book มักใช้กลยุทธ์การขายแบบเปิดให้อ่านฟรีก่อน พออ่านๆ ไป ยิ่งอ่านยิ่งสนุก จนผู้อ่านติดแล้ว เกิดเป็นกระแสแล้ว จึงค่อยขาย ดังนั้น e-book จึงมีคุณูปการข้อหนึ่ง คือ การเร้าใจและกระตุ้นให้เกิดการอ่านหนังสือมากขึ้น แต่ควรตระหนักว่า e-book ที่ขายดีและอยู่ในความนิยมของผู้อ่านในโลกออนไลน์ อาจจะไม่ใช่งานที่มีคุณภาพมากนักก็ได้
ในทางตรงกันข้าม พฤติกรรมการอ่านของคนที่อ่าน p-book คือ การอ่านแบบ “close reading” เป็นการอ่านในใจ อย่างจดจ่อ มีสมาธิ อ่านช้าๆ ไม่ชอบการรบกวน อ่านเรียงลำดับเนื้อหา เพื่อให้เข้าใจเรื่องราว ซึมซับ ดื่มด่ำ ละเมียดละไมในทุกตัวอักษรที่นักเขียนร้อยเรียง ใส่รูป รส กลิ่น เสียง ลงไป เพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการ รับรู้ และสัมผัสลึกๆ กับเรื่องราวที่เขียน การอ่านแบบนี้จึงเปรียบเสมือนการใช้ชีวิตแบบ slow life นั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมการอ่านทั้งแบบ “hyper reading” และ “close reading” นั้น มีอธิบายไว้ทำนองเดียวกันในหนังสือเรื่อง “How We Think: Digital Media and Contemporary Technogenesis” ที่เขียนโดย N. Katherine Hayles จากพฤติกรรมการอ่านดังกล่าว ให้ข้อคิดว่า หนังสือบางประเภทเท่านั้นที่เหมาะจะทำเป็น p-book เช่น หนังสือสำหรับเด็กเล็ก เพราะพฤติกรรมของเด็กเล็กที่ยังต้องการหยิบ จับ และเล่นกับตัวเล่มหนังสือ และหนังสือวรรณกรรม เพราะการเขียนงานวรรณกรรม ต้องใช้เวลาในการเขียนและสรรค์สร้างอย่างประณีต จึงไม่เหมาะกับ e-book เพราะธรรมชาติของผู้อ่านหนังสือทางออนไลน์มักชอบการสื่อสารที่รวดเร็ว
               ข้อดีของ e-book ในมุมมองด้านการขาย การผลิต และการจัดจำหน่าย คือ สามารถตั้งราคาขายหนังสือให้ต่ำลงได้ ทำให้โอกาสขายหนังสือมีมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า p-book เนื่องจากตัดค่าจ้างพิมพ์ออกไป ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของราคากระดาษและวัตถุดิบอื่นๆ ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนลดให้สายส่งและร้านหนังสือ ไม่มีต้นทุนและปัญหาเรื่องการจัดส่ง เพราะผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดเองได้ นอกจากนี้ยังไม่มีข้อจำกัดว่าต้องจัดทำขายเฉพาะเล่มที่คาดว่าจะขายได้เท่านั้น เพราะต้นทุนไม่ได้ขึ้นกับจำนวนพิมพ์ นอกจากนี้อาจจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในงานเขียนได้มากขึ้นเพื่อจูงใจนักเขียนหนังสือที่ขายดี ทำให้นักเขียนบางคนที่เข้าใจและรับรู้พฤติกรรมการอ่านของผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายของ e-book และ p-book ว่าเป็นคนละกลุ่มกัน จึงใช้โอกาสนี้เขียนหนังสือขายทั้งสองแบบ
ณ ปัจจุบัน หลายๆ สำนักพิมพ์จึงปรับตัวด้วยการผลิตเนื้อหาหรือ content ของหนังสือออกมาทั้งในรูปแบบ e-book และ p-book ควบคู่กับ e-book ที่เปิดขายออนไลน์ได้ทั้งคู่ โดย e-book นั้นมีการจัดทำเป็นรูปเล่มเช่นเดียวกับ p-book ด้วยโปรแกรมหรือแอปสำหรับจัดทำ e-book โดยเฉพาะ ในเมื่อ content ของหนังสือเหมือนกัน ดังนั้น e-book และ p-book อาจเปรียบได้กับบรรจุภัณฑ์คนละรูปแบบที่ออกแบบมาเพื่อบรรจุและใช้งาน content นั้น ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีพฤติกรรมการอ่านที่แตกต่างกัน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด content ของหนังสือจะยังคงอยู่ ไม่มีวันตาย แต่รูปแบบการนำเสนอ การเข้าถึงเพื่ออ่าน เครื่องมือที่ใช้อ่าน บรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุและสื่อสารถึงตัว content นั้นต่างหากที่จะแปรเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย

back