ศูนย์วิจัยกราฟีน แห่งแรกในเอเซีย บริษัท เฮเดล เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

30 มิถุนายน 2560 | 15:08 น.

ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2560 หรือ NAC 2017 ที่จัดขึ้น ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นผู้จัดนั้น ได้มีการจัดกิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ Thailand Organic and Printed Electronics Innovation Center (TOPIC) กับศูนย์วิจัยกราฟีนแห่งแรกในเอเซีย บริษัท เฮเดล เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโสศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (TOPIC) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช.ให้เกียรติเป็นผู้นำชม

 


ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ กล่าวว่า กราฟีน เป็นวัสดุมหัศจรรย์ ที่ทั่วโลกเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีวัสดุประเภท emerging technology ที่สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมหลากหลายได้ในอนาคต โดยศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ Thailand Organic and Printed Electronics Innovation Center (TOPIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด เนคเทค-สวทช.ได้ทำการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกราฟีนมาตลอด ตั้งแต่เทคโนโลยีการสังเคราะห์ การผลิตเชิงปริมาณ และการนำกราฟีนไปใช้งานเชิงอุตสาหกรรม และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสังเคราะห์กราฟีนด้วยวิธีการลอกด้วยเคมีไฟฟ้า ให้แก่บริษัท Innophene ซึ่งเป็นบริษัท startup (ในภายหลัง Haydale ได้ร่วมลงทุนใน Innophene) TOPIC ได้ผลักดันให้เกิดงานวิจัยเกี่ยวกับหมึกนำไฟฟ้าผสมกราฟีนเป็นรายแรกของโลกที่นำไปใช้ในกระบวนการ Printed Electronics หรืออิเล็กทรอนิกส์แบบพิมพ์ได้ TOPIC ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีกราฟีนให้ภาคเอกชน โดยการทำงานร่วมกันแบบเครือข่ายระหว่างภาครัฐ และเอกชน มีห้องปฏิบัติการ และบริการทางเทคนิค เพื่อบริการแก่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการให้คำปรึกษาในการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยหมึกอิเล็กทรอนิกส์ หรือหมึกนำไฟฟ้า และ TOPIC ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ Organic Electronics Association หรือ OE-A ซึ่งเป็นสมาคมด้านอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ระดับโลกเพื่อสร้างเครือข่ายกับกลุ่มสมาชิกของ OE-A ที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้ไทยมีฐานข้อมูล และเครือข่ายการพัฒนางานวิจัยที่เปิดกว้างมากขึ้น

Haydale Graphene Industries เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอังกฤษ มีมูลค่าตลาด 30 ล้านยูโร มีความเชี่ยวชาญด้านกราฟีนมาแต่เริ่มแรกและต่อยอดไปยังวัสดุนาโนอื่นๆ ด้วยความมุ่งมั่นในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชีย เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีวัสดุกราฟีน จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยกราฟีน Haydale Technologies (Thailand) ขึ้นที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งการมีศูนย์ HTT ในประเทศไทย จะทำให้นักวิจัยไทยมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นในประเทศไทย เป็นการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นในอนาคต และจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0

 


Haydale ได้เล็งเห็นว่า ประเทศไทยและเอเชียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับตลาดเป้าหมายของบริษัท เช่น สิ่งพิมพ์ รถยนต์ และวัสดุคอมโพสิต บริษัทจึงได้นำเครื่อง Plasma Reactor ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของบริษัทที่ประเทศอังกฤษ เข้ามาในประเทศไทย เพื่อพัฒนากลุ่มวัสดุใหม่ที่เกิดจากการนำกราฟีนมาประยุกต์ใช้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จากวัตถุดิบในประเทศ อาทิ ซิลิกอนคาร์ไบด์ ที่มีคุณสมบัติทนทานต่อการสึกหรอและอุณหภูมิสูง เหมาะสำหรับการทำตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เทคโนโลยี Plasma Reactor ของ Haydale เป็น Clean เทคโนโลยี่ที่มีอัตราของเสียเป็นศูนย์ (zero waste) สามารถนำกราฟีน มาติดหมู่ฟังก์ชั่น เพื่อทำให้เกิดคุณสมบัติพิเศษ เป็นกระบวนการในการทำ material ธรรมดาให้เป็น smart material บริษัทได้ร่วมกับบริษัทคู่ค้า (partner) ผลิตเครื่อง Plasma Reactor ออกขาย และมีมหา-วิทยาลัยใหญ่ๆ ที่มี lab graphene เช่น มหาวิทยาลัย Cambridge ใช้เครื่องของ Haydale ด้วย ปัจจุบัน HTT มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เกาหลี เป็นต้น

back