คุณชูเกียรติ อ่อนชื่น

ตำแหน่ง:อาจารย์ที่ปรึกษา
บริษัท: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชามีเดียอาร์ต

บรรจุภัณฑ์(ออนไลน์)หลังโควิด-19

 

         ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีโอกาสเห็นบรรจุภัณฑ์อยู่บนสมาร์ทโฟนมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ออนไลน์ เทรนด์การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนำเสนอบรรจุภัณฑ์ออนไลน์นี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19  นอกจากการนำเสนอบนออนไลน์แล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อาจไม่ได้นึกถึง คือ เรื่องวัฒนธรรมทางสายตา กล่าวคือ คนเรายุคใหม่ใช้โซเซี่ยลและมีตัวตนบนโลกออนไลน์มากขึ้น ฉะนั้นจึงเกิดการแลกเปลี่ยนของการมองเห็นจากสื่อโฆษณา อยู่ที่ไหน ก็สามารถมองเห็น เข้าใจ เข้าถึงบรรจุภัณฑ์ได้ 

 

        จากสถานการณ์ดังกล่าวนี้  เพื่อเป็นการเผยแพร่นำเสนอข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาพรวมของบรรจุภัณฑ์และเรื่องราวของการประกวดบรรจุภัณฑ์ เพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดีขึ้นไปในอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ วารสาร ข่าวสารในวงการพิมพ์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ ชูเกียรติ อ่อนชื่น จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิชามีเดียอาร์ต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และเป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงทั้งสาขาวิชาที่สอนและพานักเรียนเข้าร่วมการประกวดมาหลายเวทีทั้งในประเทศและอาเซียน มาบอกเล่าเรื่องราวให้ได้อ่านกัน

 

 

       อาจารย์ชูเกียรติเล่าว่า “ปัจจุบันนี้ ได้ย้อนกลับมาในรูปแบบเดิม คือ หันกลับมาใช้กระดาษ วัสดุจากธรรมชาติ ย้อนกลับมาจากขยะ ปัจจุบันนี้บรรจุภัณฑ์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการขนส่ง ไม่ใช่แค่ โครงสร้าง การยืดอายุ การเก็บรักษา การดึงดูดทางสายตา รวมไปถึงการพัฒนาการออกแบบ และการจัดงานนิทรรศการต่าง ๆ เป็นตัวตอกย้ำว่า “บรรจุภัณฑ์นั้นมีค่า” ปัจจุบันนี้ ผู้คนทั่วไปสามารถเห็นบรรจุภัณฑ์ออนไลน์มากกว่าบนชั้น เพราะพฤติกรรมของคนสมัยใหม่ ที่ชอบท่องอินเตอร์เนตและนิยมสั่งสินค้าออนไลน์จากสมาร์ทโฟนบ้าง จากแทบเล็ตหรือคอมพิวเตอร์บ้าง แถมราคายังจับต้องได้ และส่งถึงบ้านอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตบางรายเองมีการผลิตบรรจุภัณฑ์พรีเมี่ยม หรือจำกัดจำนวนออกมา เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ ทำให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ออนไลน์ขยายตัวขึ้น จะว่าไปแล้ว ขณะนี้ตลาดของสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์หาจุดยืนได้แล้ว คือ ไม่จำเป็นที่ต้องพิมพ์แบบเดิม(พิมพ์จำนวนมาก)  และไม่เพียงแต่บรรจุภัณฑ์เท่านั้น สื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือก็เริ่มกลับมามีคุณค่ามากขึ้นแล้ว ตรงนี้ผมอ้างอิงจาก งานวิจัยทางการแพทย์ว่าการอ่านหรือการใช้เวลาเล่นอยู่บนจอนาน ๆ ส่งผลเสียต่อสายตาได้ ทำให้คนกลับมาโหยหาหนังสือมากขึ้น” 

 

        เทรนด์บรรจุภัณฑ์หลังจากโควิด-19 นี้ ส่งผลให้ “พลาสติกจะถูกใช้น้อยลง แต่อยู่ในวงที่จำกัด คือ กลุ่มอาหาร ส่วนกระดาษก็จะถูกนำกลับมาใช้ สาเหตุมาจากการทั่วโลกคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีการพัฒนาโครงสร้างการออกแบบมากขึ้น เพราะคนเห็นบนอินเทอร์เนต โครงสร้างอาจไม่มีหวือหวานัก และมีการส่งเสริมการตลาดออนไลน์ เพื่อให้คนเห็นบ่อยครั้ง ทำให้ผู้ซื้อเกิดความอยากได้สินค้า หลังจากนี้ไปจะเน้นและใส่ใจเรื่องการวัสดุเพื่อบรรจุของสำหรับขนส่งมากขึ้น ไม่ใช่แค่กล่องกระดาษลูกฟูก แต่อาจจะใช้กล่องอีกชั้น ใส่สินค้า หรือ มีตราสินค้าประทับประจำร้านค้า คนออกแบบก็จะต้องคำนึงถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์จะต้องมีความใกล้เคียงกับบนหน้าจอมากที่สุด สีที่ใช้ในการพิมพ์อาจจะต้องมีมากกว่า 4 สี สินค้าที่ออกแบบมาต้องตรงปก(เหมือนกับสิ่งที่เห็นบนออนไลน์) ออกแบบมาได้สวยงาม หรืออยู่ในขั้นยอมรับได้ คนอาจจะไม่มองแล้วว่า สีเพี้ยนรึไม่”

 

         

       จากประสบการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา ผมมีโอกาสพานักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมการประกวดอยู่หลายเวทีเพื่อส่งเสริมการประกวดผนวกกับรายวิชา กล่าวคือ มอบหมายโจทย์ในการประกวดให้เหมาะสมกับการบ้านของนักศึกษา อาทิ ASPaC, SCG Packaging, etc.  และได้มีโอกาสพานักศึกษาเข้าร่วมการประกวดในเวทีประดับ Asian ของเวทีประกวด ASpaC Award ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว พอเล่าให้ฟังได้ว่า “ในยุคหลังๆของการของประกวด ทางกองประกวดเขาพยายามจะให้ออกแบบตัวบรรจุภัณฑ์เป็นแบบดิสเพลย์ได้เลย เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์ใส่ขวดซอส เป็นต้น เวทีของการประกวดได้มีการปรับข้อกำหนด เกณฑ์การออกแบบให้ทันสมัยมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดออกแบบบรรจุภัณฑ์จะเกิดการแข่งขันสูงขึ้น  เกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์ ผู้คนเห็นบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่เพียงแต่ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเห็นของอีกฝ่ายด้วย ทำให้บรรจุภัณฑ์ เกิดการพัฒนาเร็วขึ้นไปอีก เกิดการต่อยอดออกไปอีก ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่องค์ความรู้จะอยู่ในวงการวิชาการเท่านั้น แล้วการมีเวทีประกวด มันเป็นการรันตีบรรจุภัณฑ์อย่างหนึ่งด้วย ทำให้ภาพของบรรจุภัณฑ์ที่เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ที่ดีเป็นอย่างไร หรือควรแก้ไขจุดไหน ภาพบรรจุภัณฑ์ที่ดีจะมีความชัดเจนขึ้น โดยที่ผู้ออกแบบไม่ต้องไปถามใครที่ไหนเลย ถ้าเป็นกลุ่มผู้ผลิตที่ไม่ได้ทำการตลาดออนไลน์ ก็จะเกิดข้อเสียเปรียบกับคู่แข่งขันได้ เพราะผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงได้ 

 

 

          เท่าที่ผมได้สัมผัสกับเวทีการประกวดก็มีเวทีแรก การประกวด ASPaC Award เป็นเวทีประกวดผลงานนักศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งตอบโจทย์ในเวทีสากล หรือในเวทีอาเซียน การคัดเลือกมีตั้งแต่ระดับตัวแทนของประเทศ เพื่อที่จะสามารถเข้าร่วมแข่งขันในเวที Asian โดยมีตัวแทนประสานงาน Japanese Foundation ของประเทศไทย เวทีต่อมา คือ การประกวด The Challenge Packaging Design Contest by SCG Packaging เป็นเวทีประกวดในระดับอุดมศึกษา เพื่อแข่งขันผลงานด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สำหรับอุตสาหกรรม โดยเน้นส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ได้มีเวทีในการแสดงศักยภาพด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และร่วมกันพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ไทย และเวทีประกวด Thaistar Packaging Awards เป็นเวทีประกวดที่เปิดโอกาสให้กับ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จัดโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเน้นในการสร้างสรรค์และขับเคลื่อนสินค้าไทย 

 

รูปภาพนี้ เป็น ผลงานที่เด็กได้รับรางวัล ชื่อผลงาน : Pastone= Pastel+Pantone. จากเวทีAsPAC

 

         

       อาจารย์ชูเกียรติกล่าวทิ้งทายเพิ่มเติมว่า “ผมเคยอ่านรีเสิร์จ เกี่ยวกับ อินเทอร์เนต ซีนาริโอ ของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ว่า การเล่าเรื่องบรรจุภัณฑ์ทางอินเตอร์เนต ซึ่งมันไม่ได้ถ่ายโอนเพียงแค่สินค้า แต่ว่าเป็นการพูดถึง ภาพๆหนึ่งของบรรจุภัณฑ์ หรือ สินค้า ที่ถูกกระจายไปทั่วโลก เช่น การแกะบรรจุภัณฑ์ให้ถูกต้อง เป็นต้น ทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้อยากเห็นแค่บรรจุภัณฑ์อย่างเดียว แต่อยากเห็นไปถึงด้านในเลยว่า สินค้าเป็นอย่างไร ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการเล่าเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ตรงนี้ก็เกี่ยวข้องกับการส่งต่อได้เหมือนกัน บรรจุภัณฑ์มีมาตั้งนานแล้ว แต่ออนไลน์จะช่วยให้นำเสนอบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจได้อย่างไร ผู้ผลิตจะสามารถทำให้ผู้รับบรรจุภัณฑ์ได้รับประสบการณ์ที่ดี หรือจะประทับใจผู้รับหรือ ผู้ซื้อสินค้าหรือไม่ เหมือนกับว่า ผู้รับสินค้ากำลังจะได้รับกล่องของขวัญจากใครสักคนนั่นเอง” นี่ถือเป็นโจทย์ความท้าทายของผู้ผลิตและผู้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ในต่อไป

 

 

 

back